คัมภีร์ใบลานวัดบ้านโห้งหลวง ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

คัมภีร์ใบลาน 1ผูก ที่พระภิกษุสามเณร 4รูป ช่วยกันจาร”

การดำเนินการทำทะเบียนและถ่ายภาพเอกสารตัวเขียนของวัดบ้านโห้งหลวง ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก DREAMSEA ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว จำนวน 752 ผูก ซึ่งเนื้อหาส่วนมากจะเป็นคัมภีร์ใบลานที่บันทึกคำสอนทางศาสนา เช่น พระไตรปิฎก ชาดก และพระธรรม เทศนาทั่วไป จากข้อมูลที่บันทึกไว้ในส่วนต่างๆ ของคัมภีร์ใบลานที่พบที่วัดบ้านโห้งหลวงนี้ ทำให้ทราบว่า วัดบ้านโห้งหลวง เคยเป็นสำนักเรียนพระพุทธศาสนา ที่มีพระภิกษุสามเณรที่เป็นคนในชุมชนใกล้เคียงและ มาจากชุมชนอื่นๆ มาศึกษาที่วัดแห่งนี้ด้วย

การศึกษาพระพุทธศาสนาของสำนักเรียนต่างๆ ที่อยู่ในวัดนั้น นอกจากจะศึกษาและปฏิบัติตาม คำสอนของครูบาอาจารย์ในโอกาสต่างๆ แล้ว การคัดลอกคัมภีร์ใบลานก็เป็นแนวทางการศึกษาอย่างหนึ่ง เพราะก่อนที่จะคัดลอกคัมภีร์ใบลานผูกใดผูกหนึ่ง ผู้คัดลอกจะต้องอ่านเนื้อหาของคัมภีร์ใบลานผูกนั้นจนจบ เสียก่อน แล้วจึงคัดลอกไปตามต้นฉบับ เมื่อคัดลอกเสร็จแล้วก็จะต้องตรวจทานอีกรอบ หากตกหล่นหรือผิด พลาดส่วนใดก็จะจารหรือแก้ไขก่อนที่จะนำไปเทศนา หรือถวายไว้กับวัด จะแตกต่างจากการศึกษาผ่าน การอ่านหนังสือในปัจจุบัน เพราะผู้คัดลอกจะได้อ่านอย่างน้อย ๓ รอบ คืออ่านก่อนคัดลอก อ่านขณะ ที่คัดลอก และอ่านเพื่อตรวจทานก่อนนำไปถวายหรือเทศนา ถือเป็นภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาที่น่าสนใจ ยิ่งนัก

ในอดีต การเรียนอักษรธรรมล้านนา และคัดลอกคัมภีร์ใบลานถือเป็นหลักสูตรหรือสิ่งจำเป็น ต่อพระภิกษุสามเณรทุกรูป นอกจากจะเป็นหนึ่งในการศึกษาพระพุทธศาสนาตามจารีตโบราณแล้ว ยังมีความเชื่อที่มาสนับสนุนให้มีการคัดลอกคัมภีร์ไว้ตามวัดต่างๆ คือความเชื่อเรื่องการสืบทอดอายุ พระพุทธศาสนาผ่านการคัดลอกคัมภีร์ใบลาน และเป็นการอนุเคราะห์ผู้อื่นที่อยากเป็นเจ้าภาพใน การคัดลอกคัมภีร์ใบลานอีกด้วย ซึ่งผู้คัดลอกก็จะได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน

ตัวอย่างคัมภีร์ใบลาน วัดบ้านโห้งหลวง ต.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน
ที่ดำเนินการทำทะเบียนและถ่ายภาพดิจิทัลโดยได้รับทุนสนับสนุนจาก DREAMSEA

โดยทั่วไปแล้วจะพบว่าคัมภีร์ใบลานแต่ละผูก ผู้คัดลอกมักจะเป็นบุคคลเดียวที่จารตั้งแต่ต้นจนจบ แต่พบว่าคัมภีร์ใบลานของวัดบ้านโห้งหลวงหลายผูก ที่มีผู้ช่วยกันคัดลอกมากกว่าหนึ่งคน คือมีทั้งที่คัดลอก โดยบุคคล 2 คน หรือ 3 คน และจำนวนผู้จารที่มีมากที่สุด คือ 4 คน จำนวน 2 ผูก

คัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จาร จำนวน 4 คน ดังนี้

1) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “พุทธคณนา” จำนวน 1 ผูก (รหัส DS_0126_00222) รวม 47 หน้าลาน จารหน้าลานละ 5​ บรรทัด จารเสร็จเมื่อ จ.ศ.1281 (พ.ศ.2462) เนื้อหาของคัมภีร์ใบลานกล่าวถึงประวัติของ พระพุทธเจ้าโคตมะ ตั้งแต่การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ และชาติปัจจุบันที่เสวยพระชาติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ที่เบื่อหน่ายในวัฏสงสาร แล้วออกบวชและบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า การเผยแพร่พุทธศาสนาในแว่นแคว้น ต่างๆ การพรรณนาลักษณะของจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง การโคจรของพระอาทิตย์และ พระจันทร์ที่ก่อ ให้เกิดวันเดือนปีต่างๆ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงสิ่งที่เป็นที่เคารพกราบไหว้หลังจาก พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ไปแล้ว คือพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในเจดีย์ต่างๆ และปิดท้ายด้วยคำสอนให้ พุทธบริษัท ๔ รู้จักหน้าที่ ของตน ให้รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนาก็จะพ้นทุกข์ และพบกับความสุขอัน สูงสุดคือบรรลุพระนิพพาน

ผู้ที่ช่วยกันคัดลอกคัมภีร์ใบลานผูกนี้เป็นพระภิกษุสามเณร จำนวน 4 รูป ประกอบด้วย พระสีวิไช พระสุริยะ สามเณรคัมภีระ และสามเณรธัมมไชย ดังข้อความที่บันทึกว่า

สระเด็จแล้ว ณ วันเดือน 11 ดับ เม็งวันจันท์ ไทยกัดเร้า ยามตูดช้าย ก็ปริปุณณะ บรมวณกาลควรเท่านี้ก่อนแล จุฬสักกราชได้ 1281 ตัว ปีกัดเม็ด สระเด็จแล้วแล ฯ

ผู้ข้าทังหลายได้เขียนขีดแต้มนยังธัมมเทสนาดวงชื่อว่าพุทธคณนา ผูก ๑ จักทานไว้ค้ำชูสาสนาพระบรมสาสดาโคดมเจ้า ตราบต่อเท้ารอด 5000 พระวัสสา ตามอายุแห่งลานแล ฯ

ข้าพระสีวิไชย เขียนขีดแต้มทังเคล้า พระสุริยภิกขุ เขียนขีดแต้มเล่า ถัดแถมเณรคัมภิระ เขียนขีดถัดแนม เณรธัมมไชย เขียนขีดแถม ก็บอรมวณสระเด็จแล้ว ฯ

ผู้ข้าทังหลายขอหื้อได้ไปจุจอดรอดเวียงแก้วยอดมหาเนรัพพาน ขอย่าคลาดคลาจิ่มเทอะ ฯ นิพฺพาน นิจฺจํ แด่ธระวัน เขียนฟ้าวเต็มธี เจ้าเพื่อนรีบเอาแล”

จากบันทึกท้ายคัมภีร์ใบลานนี้เป็นลายมือของพระสีวิไชย ที่ระบุชื่อเรื่องของคัมภีร์ใบลานว่า “พุทธคณนา” วันเดือนปีที่คัดลอกเสร็จ คือเดือน 11 แรม 15 ค่ำ ตรงกับวันจันทร์ วันกัดเร้า เวลาหลังเที่ยงวัน จุลศักราช 1281 ปีกัดเม็ด (มะเมีย สัมฤทธิศก) เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้อยู่ครบ 5000 ปี หรือตาม อายุของใบลาน โดยมีผู้ที่ช่วยกันจาร คือ พระสีวิไชย พระสุริยะ สามเณรคัมภีระ และสามเณรธัมมไชย อานิสงส์ของการคัดบอกคัมภีร์ใบลานนี้ขอให้เป็นปัจจัยนำไปสู่พระนิพพาน และตอนท้ายได้บอกว่า เป็น การคัดลอกคัมภีร์ใบลานที่เร่งรีบมาก เพราะเจ้าของคัมภีร์ใบลาน (น่าจะหมายถึงเจ้าภาพ) ต้องการด่วน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่มีผู้ช่วยกันจารหลายคน น่าเสียดายที่ไม่มีข้อมูลระบุว่าใช้เวลาในการจารทั้งหมดกี่วัน จากการสังเกตระยะเวลาในการจารใบลาน 1 ผูก (ประมาณ 20 หน้าลาน) หากเป็นผู้จารคนเดียว ส่วนมากจะ ใช้เวลาประมาณ 2 วัน

เมื่อพิจารณาลายมือที่จารในคัมภีร์ใบลานผูกนี้ สันนิษฐานว่าผู้จารคนแรก คือพระสีวิไชย ได้จารตั้งแต่ หน้าลานที่ 1 ถึงหน้าลานที่ 16 ดังภาพประกอบต่อไปนี้

ภาพใบลาน หน้าลานที่ 1 จารโดยพระสีวิไชย
(DS_0126_00222_001)
ภาพใบลาน หน้าลานที่ 16 และ 17 ลักษณะเส้นจารหรือลายมือจะแตกต่างกัน
(DS_0126_00222_010)

โดยตั้งแต่หน้าลานที่ 17 ถึงหน้าลานที่ 23 น่าจะเป็นลายมือของพระสุริยะ ที่คัดลอกต่อจากเนื้อหาที่พระสีวิไชยจารไว้ ดังภาพประกอบต่อไปนี้

ภาพใบลาน หน้าลานที่ 23 ถึงหน้าลานที่ 24 ลักษณะเส้นจารจะแตกต่างกัน
(DS_0126_00222_013)

จากนั้นตั้งแต่หน้าลานที่ 24 จนถึงหน้าลานที่ 30 เป็นลายมือของสามเณรคัมภีระ ที่คัดลอกต่อจาก พระสุริยะ ดังภาพประกอบต่อไปนี้

ภาพใบลาน หน้าลานที่ 30 และ 31 ลักษณะเส้นจารจะแตกต่างกัน
(DS_0126_00222_016)

ตั้งแต่หน้าลานที่ 31 จนถึงหน้าลานที่ 46 เป็นลายมือของสามเณรธัมมไชย แล้วลายมือในส่วนของ บันทึกท้ายเรื่อง (หน้าลานที่ 47) เป็นลายมือของพระสุริยะ (ผู้ที่เริ่มคัดลอกเป็นรูปแรก) ดังภาพประกอบต่อ ไปนี้

ภาพใบลาน หน้าลานที่ 46 และ 47 ลักษณะเส้นจารจะแตกต่างกัน
(DS_0126_00222_024)

บันทึกท้ายเรื่องของคัมภีร์ใบลานผูกนี้ ไม่ระบุว่าพระภิกษุสามเณรที่คัดลอกนี้อยู่ที่วัดแห่งใด แต่เมื่อ ตรวจสอบรายชื่อ ช่วงเวลาที่จาร และลักษณะลายมือในการคัดลอกคัมภีร์ใบลานผูกอื่นๆ ของวัดบ้านโห้งหลวง พบว่ามีคัมภีร์ใบลานเรื่อง “ไชยทัง 7” ที่ระบุว่าจารโดยพระสีวิไชย วัดห้วยน้ำดิบ (ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัดบ้านโห้งหลวง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร) น่าจะเป็นรูปเดียวกับพระสีวิไชย ที่คัดลอกคัมภีร์ใบลาน เรื่องพุทธคณนา ร่วมกับพระภิกษุสามเณรรูปอื่น ดังภาพเปรียบเทียบระหว่างคัมภีร์ใบลานเรื่องพุทธคณนา และภาพคัมภีร์ใบลานเรื่องไชยทัง 7 ที่ระบุชื่อผู้จารว่าคือพระสีวิไชย ดังนี้

ภาพเปรียบเทียบลักษณะเส้นอักษรที่จารโดยพระสีวิไชย
ด้านบน คือ “พุทธคณนา” (DS_0126_00222_024) และด้านล่าง คือ “ไชยทัง 7” (DS_0126_00218_023)

2) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “มหาปัฏฐาน” จำนวน 1 ผูก (รหัส DS_0126_00343) 44 หน้าลาน จารหน้า ลานละ 6 บรรทัด จารเมื่อ จ.ศ.1252 ที่ข้อความท้ายใบลานระบุชัดเจนว่ามีผู้ที่ช่วยกันคัดลอกคัมภีร์ผูกนี้ 4 คน คือสามเณรอานนท์ สามเณรไชยมงคล สามเณรอุบาลี และสามเณรอโน ดังข้อความว่า “ธัมม์ผูกนี้แต้มหลายมือ แล อานนท์เขียนทังเคล้า ไชยมงคลเขียนถัด แลอุปาลีถัด แล้วอโนเขียนทังปลาย…4 มือ สามเณรทังมวลแล” โดยข้อความดังกล่าวนี้จารเส้นอักษรลงบนแผ่นใบลาน แต่ไม่ได้ลบหมึก จึงทำให้เห็นเส้นอักษรเป็นรอยจางๆ แม้จะระบุชัดเจนว่าคัมภีร์ใบลานผูกนี้มีสามเณร 4 รูป เป็นผู้จาร แต่ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าสามเณรแต่ละ รูปจารหน้าลานไหนบ้าง

คัมภีร์ใบลานเรื่อง “มหาปัฏฐาน” (DS_0126_00343_019)

คัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จาร 3 คน พบเพียง 1 ผูก ดังนี้

คัมภีร์ใบลานเรื่อง “บัวรวงส์หงส์อามาตย์ ผูก 7” (รหัส DS_0126_00408) จารเมื่อ จ.ศ.1227 ที่ระบุมีผู้จาร 3 คน คือนารทะ ธนัญชัย และสมมณะ ดังข้อความท้ายใบลานที่ว่า นารทะ เขียนชุใบ ธนัไชยเขียน ๖ หน้า สมมณะเขียนสี่หน้า”

คัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จาร 2 คน ดังนี้

1) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “พระญาคางคาก ผูก 3” (รหัส DS_0126_00060_042) จารเมื่อ จ.ศ.1215 ที่ข้อความท้ายใบลานที่ระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือพระปัญญา เป็นผู้จารตอนต้น และพระไชยวุฑฒิ จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “ตูข้า 2 ตนเข้ากัน ปัญญาภิกขุ อัตโนริสสนาทังเคล้าแลเจ้าเหย ไชยวุฑฒิริสสนาทังปลาย แล”แม้ว่าจะระบุว่ามีผู้ช่วยกันจาร 2 รูป แต่ไม่สามารถแยกได้ว่าแต่ละรูปจารหน้าลานใดบ้าง

2) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “สุวัณณสังข์ ผูก 4” (รหัส DS_0126_00265) จารเมื่อ จ.ศ.1248 ที่ข้อความ ท้ายใบลานระบุว่าผีผู้จาร 2 รูป คือสามเณรอินทา เป็นผู้จารตอนต้น และพระเตชะ เป็นผู้จารตอนท้าย ขณะที่ อยู่วัดบ้านโห้งหลวง ที่ครูบาสมมณะ เป็นเจ้าอาวาส ดังข้อความว่า จุลศักราชได้ ๑๒๔๘ ตัวปีรวายเส็ดแล้ว อินทาสามเณรเขียนทังเคล้า เตชะภิกขุเขียนทังปลายตัวบ่งามหลายแลเจ้า เขียนปางเมื่อปฏิบัติสวาธุครูบา สมมณะ วัดบ้านโห้งหลวง วันนั้นแล”

3) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “พระญาคางคาก ผูก 1” (รหัส DS_0126_00268) จารเมื่อ จ.ศ.1230 ที่ข้อความท้ายใบลานระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือ พระสมมณะ เป็นผู้จารตอนต้น และพระเทพิน เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “จุลศักราชได้ ๑๒๓๐ ปีเปิกสี.. สมมณะเขียนทังเคล้า เทพินเขียนทังปลาย บ่สู้งามหลายแล”

4) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “มหาวิบาก ผูก 3” (รหัส DS_0126_00276) จารเมื่อ จ.ศ.1283 ที่ข้อความท้าย ใบลานระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือสามเณรธัมมไชย เป็นผู้จารตอนต้น และสามเณรมหาวัณณ์ เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “มูลสัทธาข้าพเจ้าเณรธัมมไชย เขียนทังเคล้าข้าพเจ้า เณรมหาวัน เขียนทังปลาย เขียนปาง เมื่อปฏิบัติสวาธุเจ้ามหาวงส์ วัดสรีบุญเรืองบ้านโห้งหลวง…”

5) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “มหาวิบาก ผูก 4” (รหัส DS_0126_00277) จารเมื่อ จ.ศ.1283 ที่ข้อความท้าย ใบลานระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือพระมหาวงส์ เป็นผู้จารตอนต้น และสามเณรธัมมไชย เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “ทุเจ้ามหาวงส์ เขียนทังเคล้า ข้าพเจ้าธัมมไชยสามเณร เขียนทังปลาย ตัวบ่งามสักคายแล …”

6) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “วินัยรอม ผูก 2” (รหัส DS_0126_00338) จารเมื่อ พ.ศ.2480 ที่ระบุว่ามีผู้จาร 2 คน คือหนาน (ทิด) ชู เป็นผู้จารตอนต้น และนายน้อยคง เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า “ศักราชได้ ๒๔๘๐ ปีเมืองเป้าหนานชูเขียนทังเคล้า ข้าเจ้าน้อยฅง เขียนทังปลายแล”

7) คัมภีร์ใบลานเรื่อง “สุตตโสมชาดก” (รหัส DS_0126_00342) จารเมื่อ พ.ศ.2480 ที่ระบุว่ามีผู้จาร 2 คน คือสามเณรจันท์แก้ว เป็นผู้จารตอนต้น และสามเณรโยง เป็นผู้จารตอนท้าย ดังข้อความว่า พุทธศักราช ได้ ๒๔๘๐ ตัวปีแล สามเณรจันท์แก้ว เขียนทังเคล้า ข้าพเจ้าสามเณรโยง เขียนทังปลาย ปางเมื่ออยู่ปฏิบัติสวาธุ เจ้ามหาวงส์ วัดบ้านโห้ง วันนั้นแล”

คัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จารมากกว่า 1 คน ถือว่าพบได้น้อยมาก เช่น คัมภีร์ใบลานและพับสา วัดมณเฑียร ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ที่ดำเนินการสำรวจและถ่ายภาพดิจิทัล จำนวน 802 ฉบับ พบว่าคัมภีร์ ใบลาน 2 ผูก ที่ระบุชัดเจนว่ามีผู้จารมากกว่า 1 คน คือคัมภีร์ใบลานเรื่อง “อานิสงส์บวช” (รหัส DS_0113_00046) ที่ระบุว่ามีผู้จาร 2 รูป คือ สามเณรทองคำ และพระอนุรส ดังข้อความว่า “แล้วยามกอง แลงแกล่ข้า สามเณรธองฅำแลพระอนุรษทังปลายเจ้าเฮย…” และคัมภีร์ใบลานเรื่อง “เล้มหลวง” (รหัส DS_0113_00155) ที่พระบุญชื่น วรรณจิต ได้กล่าวไว้ในบันทึกท้ายใบลานว่า ตัวอักษรไม่สวยงาม ไม่เป็น ระเบียบ เพราะช่วยกันจารหลายคน (แต่ไม่ระบุจำนวนที่ชัดเจน) ดังนี้ “ตัวก็บ่งาม หยุ้งเตมธี เหตุช่วยกันเขียน” ส่วนคัมภีร์ใบลานของวัดบ้านโห้งหลวง ที่ได้ทำทะเบียนและถ่ายภาพดิจิทัลแล้ว จำนวน 752 ผูก แต่พบคัมภีร์ใบลานผูกเดียวที่มีผู้จารมากกว่า 1 คน จำนวนอย่างน้อย 9 ผูก ซึ่งมีจำนวนผู้ช่วยกันจารมี 2 คน 3 คน หรือ มากที่สุด 4 คน ถือเป็นความน่าสนใจประการหนึ่งของการศึกษาเอกสารตัวเขียนในแง่ของวัฒนธรรมการจารใบลาน ที่ส่วนมากคัมภีร์ใบลานแต่ละผูกจะมีผู้จารเพียงคนเดียว

Translate »